นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
- วัตถุประสงค์
บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (“บริษัท”) มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และเพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันขึ้น โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนบุคคลใดๆ ที่กระทำเพื่อประโยชน์ของบริษัทยึดถือนโยบายนี้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด และถือว่าการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามนโยบายนี้จะต้องได้รับโทษทางวินัยและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ขอบเขต
นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันนี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านคอร์รัปชัน บังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย โดยบริษัทมีความคาดหวังว่า ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกันทางธุรกิจจะร่วมถือปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัดหรือร่วมสนับสนุนบริษัทในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
- คำนิยาม
“การทุจริตคอร์รัปชัน” หรือ “คอร์รัปชัน” (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอการให้คำมั่นสัญญา การยอมรับ การชักจูงสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย มอบให้คำมั่นเรียกร้อง หรือรับ ซึ่ง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายระเบียบ ประกาศข้อบังคับ หรือ ขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้า ให้กระทำได้
บริษัท หมายถึง บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย
บุคลากร หมายถึง กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร คู่แข่งขันทางการค้า เจ้าหนี้ พนักงาน สังคม ชุมชน หน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
สินบน หมายถึง สิ่งจูงใจ ค่าตอบแทน รางวัล หรือผลประโยชน์ที่เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือที่ได้มอบให้กับบุคคลใดๆ จูงใจให้บุคคลนั้นๆ กระทำการหรือตัดสินใจใดๆ ที่จะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์
ของขวัญ หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่กันด้วยอัธยาศัยไมตรี หรือให้เป็นสินน้ำใจ
การเลี้ยงรับรองและบริการต้อนรับ หมายถึง การเลี้ยงอาหาร กิจกรรมสันทนาการต่างๆ
ค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง การให้เงินสด หรือสิ่งของแทนเงินสด เพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วขึ้น
การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การให้เงินหรือสิ่งของในรูปแบบใดๆ แก่บุคคล องค์กรของรัฐ องค์กรเอกชน องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หรือมูลนิธิต่างๆ เพื่อการกุศล หรือการบรรเทาทุกข์ หรือการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมหรือการสนับสนุนการช่วยเหลือพัฒนาทางสังคม โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน หรือผลประโยชน์จากองค์กรที่เข้าไปให้การสนับสนุน
เงินสนับสนุน (Sponsorships) หมายถึง เงินที่จ่ายให้หรือได้รับจากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจ สังคม ชุมชนอย่างสมเหตุสมผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และเหมาะสมแก่โอกาส
พนักงานรัฐ หมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปกติประเพณีนิยม หมายถึง เทศกาลหรือวันสำคัญ ซึ่งอาจมีการให้ของขวัญกัน และให้หมายความรวมถึงโอกาสในการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ความช่วยเหลือตามมารยาทที่ถือปฏิบัติในสังคมโดยทั่วไป
- นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ขอประกาศว่า กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย จะไม่กระทำการอันใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัทและการดำเนินธุรกิจของบริษัท ไม่ว่าตนจะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับ ผู้ให้ หรือผู้เสนอให้สินบน ทั้งที่เป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงิน แก่หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน ที่บริษัทได้ดำเนินธุรกิจหรือติดต่อด้วย โดยจะปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด และกำหนดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการทบทวนแนวทางการปฏิบัติ ข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนกระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน จะได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบของบริษัท
- แนวปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชัน
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทต้องไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ รวมทั้งต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา
- บริษัทจะสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับเห็นความสำคัญและมีจิตสำนึกในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งจัดให้มีการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การให้หรือรับสินบนในทุกรูปแบบ
- บริษัทจะเผยแพร่ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัทในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
- บริษัทจัดให้มีระเบียบการจ่ายเงินโดยมีการกำหนดอำนาจอนุมัติและวงเงินในการอนุมัติ ซึ่งการเบิกจ่ายและการจ่ายเงินที่นอกเหนือจากการประกอบธุรกิจปกติของบริษัท ต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนประกอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม รวมถึงไม่ก่อให้เกิดการช่วยเหลือทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม และเพื่อให้มั่นใจว่า การเบิกจ่ายเพื่อการบริจาคเพื่อการกุศลใดๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการคอร์รัปชันและการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อธุรกิจไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการคอร์รัปชัน
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่พึงรับหรือให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท หากได้รับของขวัญที่มีมูลค่าเกินปกติวิสัยในโอกาสตามประเพณีนิยม ให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานควรปฏิเสธหรือไม่รับของขวัญดังกล่าว และต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบทันที
- บริษัทต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในเพื่อป้องกันคอร์รัปชัน โดยกระบวนการดังกล่าวครอบคลุมด้านงานขาย การตลาด การจัดซื้อ การทำสัญญา การบริหารทรัพยากรบุคคล การบัญชีและการเงิน การเก็บบันทึกข้อมูล การปฏิบัติงาน รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ภายในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยต้องมีการดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการตรวจสอบจากฝ่ายตรวจสอบภายในดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
- นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันนี้ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคลตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคคลากร การให้ผลตอบแทน และการเลื่อนตำแหน่ง การอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงาน
- บริษัทต้องจัดให้มีมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน โดยระบุเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงจากการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ การประเมินระดับความเสี่ยงทั้งด้านโอกาสในการเกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าของการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีการทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยงให้มีความเหมาะสมที่จะป้องกันความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ปีละ 1 ครั้ง
- บริษัทต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายใน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ระบบการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดขึ้นช่วยให้บริษัท บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติงานภายในบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบ
- บริษัทต้องจัดให้มาตรการปฏิบัตินี้ได้รับการจัดทำเป็นเอกสารตามหลักการควบคุมภายในเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายและระเบียบของบริษัท
- แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศล
การบริจาคเพื่อการกุศลทั้งในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การให้ความรู้หรือการสละเวลา เป็นต้น สามารถกระทำได้โดยอาจเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมตอบแทนสังคม ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
การบริจาคเพื่อการกุศลอาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตนและอาจจะใช้เป็นข้ออ้างหรือเส้นทางสำหรับการคอร์รัปชัน และเพื่อไม่ให้การบริจาคเพื่อการกุศลมีวัตถุแอบแฝง ดังนั้น จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่า การบริจาคเพื่อการกุศลเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับรวมทั้งข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศล ดังนี้
- การบริจาคนั้นจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อศีลธรรม รวมทั้งไม่เป็นการกระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม รวมถึงต้องไม่เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใด หรือหน่วยงานใด และการบริจาคดังกล่าว บริษัทจะไม่กระทำเพื่อใช้เป็นข้ออ้างหรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นเพื่อกระทำการคอร์รัปชัน
- รูปแบบของการบริจาคอาจให้เป็นตัวเงิน เช่น การบริจาคเงินเพื่อบรรเทาสาธารณภัย หรือการบริจาคสิ่งของ หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การบริจาคอุปกรณ์การเรียนให้แก่โรงเรียนเพื่อเป็นการสงเคราะห์การศึกษา เป็นต้น
- การบริจาคนั้นจะต้องมีหลักฐานแสดงว่า ได้กระทำไปเพื่อสนับสนุนให้โครงการเพื่อการกุศล หรือการสาธารณประโยชน์ ดังกล่าวประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยสามารถแสดงได้ว่า มีโครงการเพื่อการกุศลหรือการสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
- การบริจาคนั้นจะต้องจัดทำใบบันทึกข้อความ ระบุชื่อผู้รับบริจาคและวัตถุประสงค์ของการบริจาค พร้อมแนบเอกสารประกอบเสนอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติตามระเบียบอำนาจดำเนินการ
- แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้และรับเงินสนับสนุน
เงินสนับสนุนเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท อาจกระทำได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท ทั้งนี้ อาจมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสำหรับการบริการหรือผลประโยชน์ที่ยากต่อการวัดผลและติดตาม ดังนั้น จะต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
เงินสนับสนุนอาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตนและอาจจะใช้เป็นข้ออ้างหรือเส้นทางสำหรับการคอร์รัปชัน และเพื่อไม่ให้การให้เงินสนับสนุนมีวัตถุแอบแฝง ดังนั้น จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่า การให้เงินสนับสนุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับ รวมทั้งข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเงินสนับสนุน ดังนี้
- การให้เงินสนับสนุนนั้นต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อศีลธรรม รวมทั้งไม่เป็นการกระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม และสามารถพิสูจน์ได้ว่า การให้เงินสนับสนุนไม่เป็นการให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใด หรือหน่วยงานใด และการให้เงินสนับสนุนดังกล่าว บริษัทจะไม่กระทำเพื่อใช้เป็นข้ออ้างหรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นเพื่อกระทำการคอร์รัปชัน
- รูปแบบของเงินสนับสนุนนั้นอาจเป็นตัวเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ เช่น ค่าที่พักและอาหาร วัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
- การให้เงินสนับสนุนนั้นต้องมีหลักฐานที่แสดงได้ว่า ผู้ขอเงินสนับสนุนได้นำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปใช้เพื่อทำกิจกรรมตามโครงการที่ได้ขอเงินสนับสนุนดังกล่าวจริง เพื่อให้วัตถุประสงค์ของโครงการประสบผลสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
- ในการเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนจะต้องจัดทำใบบันทึกข้อความ ระบุชื่อผู้รับเงินสนับสนุนและวัตถุประสงค์ของการสนับสนุน พร้อมแนบเอกสารประกอบตามสมควร เสนอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติตามระเบียบอำนาจดำเนินการ
- แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
การดำเนินการเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน และเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต โดยการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทเพื่อเป็นการติดสินบน นอกจากนี้ การที่บริษัทให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมกับลูกค้า อาจเป็นการปฏิบัติที่ผิดนโยบายของลูกค้าหรือคู่ค้าบางราย และเป็นเหตุให้บริษัทต้องเสียโอกาสทางธุรกิจไป
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจในอันที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัท และในขณะเดียวกัน เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทมีแนวปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนี้
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท สามารถรับหรือให้ของขวัญ การบริการต้อนรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเลี้ยงรับรองหรือรับการเลี้ยงรับรองจากบุคคลอื่น เป็นต้น ได้ในโอกาสต่างๆ ตามธรรมเนียมประเพณี หรือตามมารยาทสังคมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป โดยจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และไม่เป็นการปิดบังซ่อนเร้น โดยการรับหรือการให้ดังกล่าวนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบใดๆ ผ่านการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนหรือแอบแฝง เพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ตอบแทน หรือทำให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ และจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในการให้ของขวัญของบริษัทนั้นจะต้องให้ในนามบริษัท ไม่ใช่ในนามส่วนตัว โดยอาจจัดทำเป็นของขวัญที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัทหรือติดนามบัตรที่มีตราของบริษัทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การให้ของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ เป็นต้น โดยจะต้องไม่อยู่ในรูปเงินสดหรือสิ่งเทียบเท่าเงินสด เช่น เช็ค บัตรของขวัญหรือบัตรกำนัล เป็นต้น ยกเว้นเป็นการให้ในรูปของการส่งเสริมการขาย ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์ไว้ชัดเจนและปฏิบัติในแนวทางเดียวกันกับทุกคน
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัทจะต้องไม่เรียกร้องหรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก หรือค่าใช้จ่ายอื่นจากลูกค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทไม่ว่ากรณีใด อันจะทำให้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียง หรือลำบากใจ หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัทต้องไม่รับของขวัญหรือค่าตอบแทนใดๆ ที่เกินสมควร อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เช่น ในการประกวดราคาจะต้องไม่รับของขวัญหรือค่าบริการต้อนรับจากบริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคาหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นต้น
- การให้และรับผลประโยชน์อื่น เช่น การเลี้ยงสังสรรค์รับรองจะต้องมั่นใจได้ว่า การรับรองนั้นมิได้มีลักษณะเป็นการใช้จ่ายเงินมากเกินสมควรหรือกระทำบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดข้อผูกมัดกับผู้ที่จัดการสังสรรค์รับรองนั้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
- การเลี้ยงรับรองทางธุรกิจควรจัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการทำความรู้จัก ควรมีความเหมาะสมในแต่ละโอกาส สำหรับการบริการต้อนรับสามารถจัดให้มีการเลี้ยงรับรองตามความเหมาะสมและโอกาส
- แนวปฏิบัติในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
- บริษัทได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เกี่ยวกับการบริหารบุคลากรและจะพิจารณาอย่างรอบคอบในการพิจารณาคัดเลือก การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการให้ผลตอบแทน ตลอดจนการให้รางวัลต่างๆ ต่อพนักงาน ซึ่งบริษัทจะได้คำนึงถึงการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด
- บริษัทมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคลให้เป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ ขั้นตอนการฝึกอบรม ขั้นตอนการสรรหาพนักงาน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติงาน สวัสดิการพนักงาน รวมถึงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มุ่งเน้นการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยบริษัทไม่มีนโยบายในการเรียกรับ หรือรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้สมัคร พนักงาน หรือผู้เกี่ยวข้องกับการสมัครงานทั้งในช่วงการสมัครงานและช่วงประเมินผลทดลองงาน เพื่อให้มีการบรรจุเป็นพนักงานประจำ
- ด้านการจ้างงาน บริษัทได้กำหนดประเภทและคุณสมบัติของพนักงานในการรับเข้าทำงาน โดยผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด จะต้องไม่เคยมีประวัติการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้
- แนวทางการเปิดเผยและสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
เพื่อให้ผู้ถือหุ้น บุคคลภายนอก หรือผู้ที่สนใจทราบถึงนโยบาย บริษัทจะนำนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเผยแพร่ให้ได้รับทราบผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
- เว็บไซต์บริษัท thaicapital.co.th
- รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report)
- กระบวนการลงโทษ
บริษัทจะดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทที่ฝ่าฝืนการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีบทลงโทษทางวินัยจนถึงขั้นให้ออกจากงาน และ/หรือ พ้นจากการเป็นพนักงาน การไม่ได้รับรู้ถึงนโยบายนี้ และ/หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ได้
- การติดตาม/ทบทวนความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน
บริษัทกำหนดให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงติดตามและประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และให้มีการทบทวนมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างครอบคลุม
- การทบทวนนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
เพื่อเป็นการวัดประสิทธิผลและพัฒนานโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้มีความสอดคล้องกับความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนไป บริษัทกำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีหน้าที่ในการทบทวนความเหมาะสมของนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และนำเสนอข้อปรับปรุงต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณา และเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ
นโยบายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
จึงประกาศมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วไป
นายมั่นสิน ชัยวิกรัย
ประธานกรรมการ
บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)